Tuesday, January 24, 2006

บทลงโทษประหารชีวิต…ถึงเวลาที่ต้องทบทวน !

นางอลิซาเบธ ฮอร์ตัน มารดาของนางสาวแคเธอรีน ฮอร์ตัน นักศึกษาชาวอังกฤษที่ถูกฆ่าตายที่เกาะสมุย ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ ตนไม่อยากให้มีการประหารมือฆ่าลูกสาวของตัวเองเพราะผู้ต้องหาทั้ง ๒ คนนั้นควรจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ภายในคุกเพื่อชดใช้การกระทำอันแสนโหดร้ายที่มีต่อลูกสาวของตน ฉันไม่เคยเชื่อในเรื่องของโทษประหารแต่ฉันเชื่อว่าชีวิตหมายถึงชีวิต การจำคุกตลอดชีวิตถึงจะเป็นการลงโทษที่สมควร ฉันไม่เห็นด้วยกับการเอาชีวิตของใคร และแคเธอรีนเองก็ไม่เชื่อเช่นกันเพราะไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์อะไร แต่ถ้าหากคนเหล่านี้ถูกเข้าไปอยู่ในคุกจนตาย ก็จะสามารถหยุดยั้งไม่ให้คนพวกนี้ออกไปทำอะไรกับคนอื่นได้ ”
ความจริงข้อถกเถียงเรื่องควรมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทยหรือไม่ ได้มีข้อโต้แย้งกันมาอย่างยาวนาน และดูเหมือนว่ากระแสอารมณ์ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังอยากให้ลงโทษประหารชีวิตโดยเฉพาะทุกครั้งที่มีคดีสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับเด็กและผู้หญิง
ในปัจจุบันบทลงโทษประหารชีวิตในประเทศไทยได้บัญญัตไว้ในกฎหมายหลายฉบับและหลายฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา อาทิ ความผิดฐานปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระองค์หรือหรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ ความผิดฐานปลงพระชนม์พระราชินีหรือรัชทายาท หรือฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระราชินีหรือรัชทายาท หรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดฐานเป็นกบฏ ความผิดฐานทำให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐต้องเสื่อมเสียไป ความผิดฐานเป็นคนไทยทำการรบกับประเทศไทย หรือเข้าร่วมเป็นข้าศึกของประเทศ ความผิดฐานให้การอุปการะแก่การดำเนินการรบหรือ การตระเตรียมการรบของข้าศึก ทำให้ป้อมค่ายสนามบิน ยานรบ ยานพาหนะ ทางคมนาคม สิ่งที่ใช้ในการสื่อสาร ยุทธภันฑ์ เสบียงอาหาร อู่เรือ อาคาร หรือสิ่งอื่นใดสำหรับใช้เพื่อการสงครามใช้การไม่ได้ หรือตกไปอยู่ในเงื้อมมือของข้าศึก ยุยงทหารให้ละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ ก่อการกำเริบ หนีราชการหรือละเมิดวินัยกระทำจารกรรม นำหรือแนะทางให้ข้าศึกได้เปรียบในการรบ
ความผิดฐานกระทำให้ผู้อื่นล่วงรู้หรือได้ไปซึ่งข้อความ เอกสารสิ่งใดๆอันปกปิดไว้เป็นความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศในระหว่างการรบหรือการสงคราม ทำให้รัฐต่างประเทศได้ประโยชน์ ความผิดฐานกระทำการใดๆเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอกและเหตุร้ายได้เกิดขึ้น
ความผิดฐานฆ่า หรือพยายามฆ่าราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท ประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ซึ่งมีสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศไทยหรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกสินบน ความผิดฐานเจ้าพนักงานในการยุติธรรมเรียกสินบน ความผิดฐานเจ้าพนักงานในการยุติธรรมเรียกรับสินบนก่อนรับตำแหน่ง ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือสาหัส ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ โรงเรือน เรือ หรือแพ ที่คนอยู่อาศัย โรงเรือนเรือหรือแพอันเป็นที่เก็บหรือทำสินค้า โรงมหรสพหรือสถานที่ประชุม โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน หรือที่จอดรถหรือสาธารณะ เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ อากาศยาน หรือรถไฟ ที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ ความผิดฐานกระทำให้เกิดระเบิดทำ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือสาหัส ความผิดฐานทำให้เกิดระเบิดแก่ทรัพย์ ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิง เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ความผิดฐานข่มขืนกระทำ ชำเราเด็กหญิงเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย ความผิดฐานกระทำอนาจาร แก่บุคคลอายุกว่า ๑๕ ปีเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคล อายุไม่เกิน ๑๕ ปีเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาล่อไปหรือ ชักพาไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ
ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ความผิดฐานเอาคนลงเป็นทาสหรือให้มีลักษณะคล้ายทาส นำเข้าในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ความผิดฐานเรียกค่าไถ่ ความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่น ถึงแก่ความตาย ความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
โทษประหารชีวิตตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ แก้ไขเพิ่มเติม ๒๕๔๕ เช่น ความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดให้ โทษประเภท ๑ เพื่อจำหน่าย
ความผิดฐานจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อ จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ มีปริมาณเป็นสารบริสุทธิเกินยี่สิบกรัมขึ้นไป ความผิดฐานใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษ ร้ายใช้อำนาจครอบงำ หรือข่มขืนใจให้หญิงหรือบุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะเสพยาเสพติด
โทษประหารชีวิตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. ๒๔๙๐ แก้ไข ๒๕๔๓ เช่น ความผิดฐานใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดกระทำความผิดอาญามาตรา ๒๘๘ มาตรา๓๓๗ มาตรา ๓๓๙ มาตรา ๓๔๐ และบทลงโทษประหารชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร รวมแล้วกฎหมายไทยในปัจจุบันอย่างน้อย ๕๐ ความผิดที่มีบทลงโทษประหารชีวิต
โทษประหารชีวิตเป็นโทษที่รุนแรงที่สุด เย็นวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๖ เรือนจำกลางบางขวาง ได้ประหารชีวิตนักโทษประหาร ด้วยการ..ฉีดยา..หรือสารพิษให้ตาย เป็นครั้งแรกการประหารจำนวน ๔ คนจากนักโทษคดียาเสพติด ซึ่งปัจจุบันมีนักโทษเด็ดขาดต้องโทษประหารที่เป็นผู้หญิงจำนวน ๕ รายและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีจำนวน ๑๐๐ ราย ผู้เขียนคิดว่าการมีโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตไม่มีประโยชน์อะไร สังคมไทยรัฐบาลไทย โดยเฉพาะผู้นำอาจต้องเริ่มต้นคิดใหม่กับกระบวนการการลงโทษว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด การใช้โทษประหารชีวิตนั้นเป็นไปตามกฎหมายที่มนุษย์ในสังคมในช่วงเวลาหนึ่งเห็นดีเห็นงามที่ให้มีขึ้น เราต้องไม่ลืมว่ากฎหมายนั้นเขียนขึ้นโดยมนุษย์และย่อมเปลี่ยนแปลงได้เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป อาทิ ความผิดเกี่ยวกับยาบ้าที่ในอดีตนั้นกฎหมายถือว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ แต่ต่อมาได้กำหนดให้เป็นยาเสพติดประเภทร้ายแรงเท่ากับเฮโรอีนและก็มีจำเลยได้รับโทษประหารชีวิตไปแล้ว แต่สภาพปัญหายาเสพติดก็ยังมีปัญหาย่อมสะท้อนให้เห็นได้ว่าบทลงโทษที่รุนแรงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของคุณแคเธอรีน ฮอร์ตัน ด้วยความสนใจยิ่ง ผมเชื่อว่าเธอคงปวดร้าว แต่เธอได้ให้สติกับสังคมไทยได้ดียิ่ง ต่างกับผู้นำของเราที่มักจะตอกย้ำความโกรธแค้นชิงชังอยู่เสมอ ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะได้ช่วยกันสังคายนาบทลงโทษที่มีอยู่ในสังคมไทย โดยปราศจากอวิชาครอบงำ.

นายพิทักษ์ เกิดหอม
โครงการศึกษาการลงโทษประหารชิวิตในประเทศไทย

No comments: