Monday, February 02, 2009

Death Penalty in Thailand

ไม่มีความจำเป็นต้องมีโทษประหารชีวิต
เดวิด ที จอห์นสัน (David T Johnson)
(Bangkok Post, January 29, 2009)
โทษประหารชีวิตกำลังหายไปจากโลกนี้ ในปี ค.ศ. 1970 มีประเทศเพียง 21 ประเทศเท่านั้นที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ปัจจุบันจำนวนประเทศที่ยกเลิกคือ 134 หรือสามในสี่ของประเทศในโลกทั้งหมด
โทษประหารชีวิตลดลงในทวีปเอเชียด้วย ครึ่งหนึ่งของประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิต (เช่นในประเทศเขมร ภูฐาน และฟิลิปปินส์) หรือไม่ได้มีการประหารชีวิตมากว่า 10 ปีแล้ว (ประเทศลาวและพม่าไม่มีการประหารชีวิตมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989)
ในบางด้าน ประเทศไทยดูเหมือนจะกำลังเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มยกเลิกโทษประหารชีวิต ประเทศไทยมีโทษประหารชีวิตในกฎหมายและศาลก็ยังสั่งลงโทษประหารชีวิตผู้กระทำผิด แต่การประหารชีวิตเกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนมากเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยโทษกับผู้ที่ถูกลงโทษเกือบทั้งหมด
ไม่มีการประหารชีวิตในประเทศไทยเลยใน 13 จาก 21 ปีที่ผ่านมานี้ และการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายจาการฉีดยาเกิดขึ้นมานานกว่า 5 ปีมาแล้ว
ในระหว่างการเดินทางไปประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับข้าราชการและนักกฏหมายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต ส่วนใหญ่กล่าวว่าประเทศไทยควรจะยกเลิกโทษประหารชีวิตและคงจะยกเลิกในที่สุด แต่ยืนยันว่าในปัจจุบันประเทศไทยยังควรจะคงโทษนี้ไว้ด้วยเหตุผลสองประการ
ประการที่หนึ่งคือความคิดเห็นของประชาชน การสำรวจความเห็นพบว่าคนไทยส่วนใหญ่สนับสนุนโทษประหารชีวิต และข้าราชการบางคนกล่าวว่ารัฐบาลควรจะคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตตราบใดที่เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนเพราะว่าประชาธิปไตยควรจะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
ประสบการณ์จากประเทศอื่น ๆ เสนอว่าความเห็นแบบนี้เป็นการคิดตื้น ๆ เกินไป ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทุกประเทศดำเนินการแม้ว่าในขณะนั้นประชาชนส่วนใหญ่จะสนับสนุนโทษนี้ การ”นำแถว”แบบนี้เกิดขึ้นเมื่อประเทศยุโรปตะวันตกยกเลิกโทษประหารชีวิตหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง และกิดในลักษณะเดียวกันเมื่อประเทศยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางยกเลิกโทษประหารชีวิตหลังการล่มสลายของสหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียต
ถ้าผู้นำประเทศเหล่านั้นรอให้เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเปลี่ยนไปต่อต้านโทษประหารชีวิตก่อนจะดำเนินการ ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่คงจะยังมีการใช้โทษประหารชีวิตอยู่ในปัจจุบัน
ในความเป็นจริง ทุกประเทศได้ยกเลิกโทษนี้แล้ว ยกว้นเพียงประเทศเดียวที่อยู่ภายใต้เผด็จการคือประเทศเบลารุส
เมื่อไรที่ประเทศไทยกำจัดโทษประหารชีวิตออกจากระบบ ประเทศไทยจะทำเช่นนั้นเพราะว่าผู้นำของปะเทศมองเห็นว่ามันเป็นสิ่งถูกต้องที่จะต้องทำไม่ว่าความเห็นของประชาชนจะว่าอย่างไรก็ตาม
ข้อคัดค้านข้อที่สองต่อการยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทยก็คือความเชื่อที่ว่าโทษประหารชีวิตยับยั้งการกระทำผิดได้ดีกว่าการจำคุกเป็นเวลานาน แต่การคิดเช่นนี้แสดงชัยชนะของความเชื่อเหนือตัวเลข เพราะว่าโทษประหารชีวิตมีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมการกระทำผิดพอ ๆ กับการขอฝนมีความเกี่ยวข้องกับดินฟ้าอากาศ
เราลองมาพิจารณาหลักฐานบางชิ้นดู
ในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2007 อัตราการเกิดการฆาตกรรมในรัฐที่มีการใช้โทษประหารชีวิตสูงกว่าในรัฐที่ไม่มีการใช้โทษนี้ถึง 42% ในเจ็ดทศวรรษที่ผ่านมานี้ อัตราการเกิดการฆาตกรรมของรัฐต่าง ๆ ของประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างน่าสังเกตไม่ว่าจะมีการลงโทษประหารชีวิตกี่รายก็ตาม
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 เป็นต้นมา รัฐเท็กซัสได้ทำการประหารชีวิตนักโทษไปแล้วกว่า 250 ราย รัฐแคลิฟอร์เนีย 13 ราย และรัฐนิวยอร์คไม่มีการประหารเลย แต่อัตราคดีฆาตกรรมในรัฐทั้งสามคล้ายคลึงกันมากและเป็นไปตามแนวโน้มของประเทศ
ในภาพรวม รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประหารชีวิตนักโทษไปกว่า 1,000คนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 ในขณะที่ประเทศแคนาดาไม่มีการประหารชีวิตมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 แต่ทว่าอัตราคดีฆาตกรรมของทั้งสองประเทศมีแนวโน้มคล้ายคลึงกันมากในทศวรรษที่ตั้งแต่นั้นมา โดยที่อัตราของประเทศแคนาดาเป็นแค่หนึ่งในสามของประเทศสหรัฐอเมริกาตลอดช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้
ความไร้ประสิทธิผลในการยับยั้งของโทษประหารชีวิตในบริบทของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ถูกสะท้อนในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ
มีการศึกษาค้นคว้าหนึ่งที่ถามความเห็นของนักอาชญาวิทยา 67 คนว่าการวิจัยที่มีอยู่สนับสนุนการอ้างว่าโทษประหารชีวิตยับยั้งการกระทำผิดหรือไม่ กว่า 80% ตอบว่าไม่
ในการสำรวจความคิดเห็นของหัวหน้าตำรวจ 386 คนทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าบางคนสนับสนุนโทษประหารชีวิตด้วยเหตุผลทางปรัชญา (เช่น เป็นการตอบแทนการกระทำผิด) แต่เกินกว่าสองในสามยอมรับว่าเป็นการยับยั้งที่ไม่ได้ผล
ผลการยับยั้งการกระทำผิดของโทษประหารชีวิตไม่มีให้เห็นในทวีปเอเชียด้วยเช่นกัน
ใน 50 ปีที่ผ่านมา อัตราคดีฆาตกรรมในประเทศญี่ปุ่นลดลง 80% ไม่มีประเทศอื่นที่มีการลดลงมากเท่านี้และการลดลงนี้ไม่สามารถจะอ้างได้ว่าสืบเนื่องมาจากนโยบายด้านโทษประหารชีวิตของประเทศญี่ปุ่นเพราะว่านโยบายนี้ได้ลดความรุนแรงลงมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
หลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดอาจจะมาจากประเทศฮ่องกงและสิงคโปร์ ประเทศที่เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่คล้ายคลึงกันมากในหลาย ๆ ด้านทางสังคม, วัฒนธรรม, และเศรษฐกิจ
ประเทศทั้งสองนี้แตกต่างกันอย่างมากด้านนโยบายโทษประหารชีวิต การประหารชีวิตครั้งสุดท้ายในฮ่องกงเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1966 (หนึ่งปีหลังจากหระเทศอังกฤษหยุดการประหารชีวิต) และฮ่องกงยกเลิกโทษประหารชีวิตทางกฎหมายในปี ค.ศ. 1993
ในทางตรงกันข้าม สิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตอย่างจริงจังที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ในกลางทศวรรษ 1990 ประเทศสิงคโปร์ประหารชีวิตนักโทษต่อปีเป็นจำนวน 20 ถึง 25 เท่าของการประหารชีวิตในเมืองฮุสตัน ซึ่งเป็นเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีขนาดพอ ๆ กัน และเป็นเมืองที่มีการใช้กฎหมายประหารชีวิตอย่างจริงจังที่สุดในรัฐที่มีการใช้โทษประหารชีวิตจริงจังที่สุด(รัฐเท็กซัส)ของประเทศประชาธิปไตยที่มีการใช้โทษประหารชีวิตจริงจังที่สุดในโลก
สิงคโปร์มีการประหารชีวิตนักโทษ 76 รายในปี ค.ศ. 1994 ซึ่งมากกว่าการประหารชีวิตทั้งหมดของประเทศญี่ปุ่น(ซึ่งมีประชากรมากกว่า 30 เท่า) ในช่วงเวลา 30 ปีตั้งแต่ ค.ศ. 1997 ถึง 2006
แม้ว่านโยบายด้านโทษประหารชีวิตจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อัตราคดีฆาตกรรมของสิงคโปร์และฮ่องกงเป็นไปในทิศทางเดียวกันตลอด 35 ปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าอัตราการประหารชีวิตในสิงคโปร์จะลดลงในสองสามปีที่ผ่านมา (มีการประหารชีวิตเพียงห้าครั้งในปี ค.ศ. 2006 และสองครั้งในปี 2007) แต่อัตราคดีฆาตกรรมกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง
ถ้าไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่จะแสดงว่าโทษประหารชีวิตยับยั้งคดีฆาตกรรมในสิงคโปร์ อะไรที่จะเป็นรากฐานของสมมุติฐานที่ว่ามันจะเป็นจริงในเมืองอื่น ๆ เช่นกรุงเทพ ฯ หรือเชียงใหม่ ที่ซึ่งโอกาสการรับโทษประหารชีวิตมีน้อยกว่าด้วยซ้ำ
ผู้ร่างนโยบายควรจะใช้ความจริงไม่ใช่ความเชื่อเป็นพื้นฐาน
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโทษประหารชีวิต หลักฐานมีมากและชัดเจนว่าโทษนี้ไม่สามารถยับยั้งการกระทำผิดได้มากกว่าการจำคุกระยะยาว
สำหรับประเทศไทย ทั้งหมดนี้หมายความว่าความจำเป็นที่จะต้องควบคุมอาชญากรรมไม่ใช่สิ่งที่จะกีดขวางการยกเลิกโทษประหารชีวิต ความเห็นของประชาชนก็ไม่ใช่เช่นกัน สิ่งเดียวที่ขวางยกเลิกสถาบันของการฆ่าโดยไม่จำเป็นนี้ก็คือจิตวิญญาณทางการเมือง
เดวิด ที จอห์นสัน เป็นศาสตราจารย์ทางสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาย และเป็นผู้ร่วมแต่งหนังสือ (ร่วมกับ Franklin E Zimring) เรื่อง “The Next Frontier: National Development, Political Change, and the Death Penalty in Asia” ซึ่งได้ตีพิมพ์เดือนนี้โดยสำนักพิมพ์ Oxford University Press

No comments: