6 กันยายน 2549 16:02 น.
พิทักษ์ เกิดหอม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : อย่างน้อยมีพรรคการเมืองใหญ่สามพรรค ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ และชาติไทย ที่ไม่มีนโยบายในการยกเลิกโทษประหารชีวิต ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม มันก็สะท้อนให้เห็นว่า เรื่องอะไรที่ไม่มีคะแนนเสียงหรืออาจจะเสียคะแนนเสียง ความใส่ใจของพรรคการเมืองแทบไม่มี โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับนักโทษ เพราะนักโทษต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
การเสนอนโยบายเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิต มิได้หมายความว่าเราจะปกป้องผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดที่ได้ผ่านมาต่อสู้คดีในชั้นศาลอย่างเต็มที่ ต้องถูกลงโทษเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องปฏิบัติ แต่ก็มีทางเลือกที่กระทำได้ภายหลังการยกเลิกโทษประหารชีวิตคือการจำคุกอย่างจริงจังในระยะเวลาที่ยาวนาน
เราอาจจะมองว่านักโทษที่ถูกประหารชีวิตในประเทศไทยมีน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชาชนในประเทศ ประเด็นเรื่องจำนวนนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ แต่การคงโทษประหารชีวิตมันตอบไม่ได้ในหลักสิทธิมนุษยชนและหลักคำสอนของศาสนาพุทธ ในศีลข้อที่ 1 ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
การยกเลิกโทษประหารเท่ากับเป็นการประกาศทิศทางของประเทศไทย ที่จะไม่แก้ไขปัญหาด้วยวิธีการรุนแรงแบบเดิมๆ รัฐบาลและพรรคการเมืองในบางเรื่องบางประเด็น ควรเป็นผู้นำพาสังคมไปในทิศทางที่ถูกต้อง รัฐบาลและพรรคการเมืองควรชี้ให้ประชาชนเห็นว่า ต้นเหตุที่แท้จริงของอาชญากรรมฆ่าข่มขืนมาจากอะไร
แน่นอนทุกครั้งที่มีคดีข่มขืนและฆ่า สังคมมักโกรธแค้นชิงชังผู้กระทำความผิดและเรียกร้องให้ลงโทษอย่างรุนแรง แต่เราลืมไปว่าประเทศของเราในเวลานี้ มีแต่สื่อลามกและกระแสวัฒนธรรมกระตุ้นเล้าความกำหนัดอยู่ตลอดเวลา เหล้าเบียร์หาซื้อได้ง่ายเหมือนซื้อน้ำเปล่า เด็กและเยาวชนของเราจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในกระแสเหล่านี้ เมื่อสภาพแวดล้อมของสังคมเป็นอย่างนี้
เมื่อสังคมด้านมืดมันหล่อหลอมคนของเราให้กระทำความผิดได้ง่าย มันจึงไม่มีความชอบธรรมอันใดที่จะประหัตประหารชีวิตของเขา เว้นเสียแต่ว่าถ้าเราสามารถแก้ปัญหาโดยจัดสภาพแวดล้อมของสังคมให้ดี ไม่มีสิ่งกระตุ้นเร้า แต่มันยังมีการกระทำความผิดอีก นั่นย่อมหมายความว่าเป็นการกระทำความผิดโดยสันดานตนเองโดยแท้ รัฐอาจมีความชอบธรรมในการตัดออกจากสังคมเสียถึงแม้ผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยก็ตาม
ประเด็นที่สำคัญยิ่งที่สัมพันธ์กับการลงโทษประหารชีวิต กระบวนการกลั่นกรองผู้กระทำความผิด โดยกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร จากข้อมูลของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพปรากฏว่าในปี 2548 มีจำเลยที่ยื่นแบบคำขอรับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จำนวน 610 เรื่อง เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการจำนวน 355 เรื่อง
รัฐต้องจ่ายให้แก่จำเลยถึง 214 เรื่อง เป็นจำนวนเงินกว่า 60 ล้านบาท ในปี 2549 (มกราคม-กรกฎาคม) มีจำเลยยื่นแบบคำร้อง จำนวน 354 ราย รัฐต้องจ่ายจำนวนถึง 216 ราย เป็นจำนวนเงิน 58 ล้านบาท ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เราเห็นได้ว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญานับตั้งแต่ตำรวจ ทนายความ อัยการ และศาล ยังคงต้องปฏิรูปอีกพอสมควร
หากมีจำเลยคนหนึ่งคนใดที่อาจมิได้กระทำความผิด แต่ด้วยข้อจำกัดในกระบวนการยุติธรรมต้องถูกประหารชีวิต เรามิอาจเอาชีวิตเขากลับคืนมาได้ เช่นเดียวกับการบัญญัติกฎหมายของเรา เมื่อก่อนยาบ้ามีโทษสูงสุดไม่ถึงประหารชีวิต แต่ปัจจุบันโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แต่หากวันใดสังคมหรือรัฐสภาเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายใหม่ กำหนดโทษไม่ถึงขั้นประหารชีวิตแล้วชีวิตคนที่เราประหารไปแล้วจะทำอย่างไร
ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่พรรคการเมืองต้องตระหนักถึงการนำพาสังคมไทยไปในทิศทางที่ถูกต้องดีงาม ต้องกล้าหาญทางจริยธรรมมากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ภาวะวิกฤติทางการเมืองเฉกเช่นทุกวันนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่พรรคการเมือง นักการเมืองต้องกล้าฝ่ากระแสอารมณ์ความรู้สึก กล้าประกาศนโยบายยกเลิกโทษประหารชีวิต นั่นหมายความว่าเป็นการประกาศแนวทางสันติวิธีและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในการบริหารประเทศ สังคมไทยจึงมีความหวังที่จะกลับมาสงบสุขอีกครั้ง
No comments:
Post a Comment